ไขข้อข้องใจ ใบร่มทำจากผ้าชนิดไหน ต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง ?

เมื่อพูดถึงสินค้าอย่างร่ม ก็แน่นอนว่าโดยทั่วไปแล้วหลายคนมักมองว่าเป็นสินค้าที่มีประโยชน์ใช้งานพื้นฐานธรรมดา ๆ ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีไว้กางกันแดด กันฝนในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างร่มพับ ร่มตอนเดียว เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่ดูจะไม่มีความซับซ้อนอะไร แต่ทว่าเมื่อมองในแง่ของการผลิตต้องถือเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อน และมีองค์กรประกอบมากกว่าที่หลายคนคิดไว้ เพราะการจะผลิตร่มขึ้นมาได้สักคันนั้น ต้องมีการทำชิ้นส่วนหลายชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกัน และแต่ละชิ้นส่วนต่างก็ใช้วัสดุที่แตกต่างออกไป ทั้งส่วนโครง แกนกลาง ใบร่ม ด้ามจับ และส่วนประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกเหนือจากนี้ อีกทั้งวัสดุที่นำมาใช้ก็ยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างไปจากการผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ ด้วย ในบทความนี้จึงได้เลือกนำเอาความรู้ในส่วนของการทำใบร่ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งมาแนะนำบอกกล่าวให้หลายคนได้ทราบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่สนใจสั่งทำร่มพรีเมี่ยมกับโรงงานผู้ผลิตต่าง ๆ สำหรับใช้ในกิจกรรมทางการตลาดใด ๆ ของแบรนด์ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ เพื่อจะได้มีข้อมูลประกอบการบรีฟออเดอร์กับทางโรงงานผู้ผลิต และสามารถเลือกเกรดวัสดุได้ถูกต้องตามสเปคสินค้าที่คาดหวัง

ใบร่มนิยมใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ผลิต ตัวอย่างเช่น ร่มพับ ร่มกอล์ฟ และอื่น ๆ อีกหลายแบบ ประเด็นแรกที่หลายคนน่าจะสงสัยมากที่สุดในการทำร่มสักคันก็คือ ผ้าที่จะนำมาใช้ในการทำใบร่มนั้นต้องเป็นผ้าชนิดไหน คำตอบก็คือ ผ้าโพลีเอสเตอร์นั่นเอง เนื่องจากการทำใบร่มนั้นต้องการคุณสมบัติของเส้นใยที่มีความลื่น ป้องกันน้ำได้ ซึ่งเส้นใยโพลีเอสเตอร์มีคุณสมบัติดังกล่าว อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผ้าโพลีเอสเตอร์ทุกแบบ หรือทุกเกรดจะนำมาใช้ผลิตได้ โดยจะมีเฉพาะเกรดเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ผลิตใบร่มได้ ตัวอย่างเช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์พองจี เป็นต้น เส้นใยโพลีเอสเตอร์ตามตัวอย่างดังกล่าวจะถูกถักทอมาแบบไม่ให้น้ำ หรือของเหลวใด ๆ ซึมทะลุผ่านไปอีกด้านได้ นอกจากนี้ผ้าโพลีเอสเตอร์เกรดดังกล่าวก็ยังมีการแบ่งระดับความหนาออกเป็นหลายระดับด้วย ซึ่งระดับความหนาที่มากนั้นก็ย่อมตามมาด้วยความทนทานที่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ตามมาด้วยน้ำหนักที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

คุณสมบัติการปกป้องยูวี นอกเหนือจากคุณสมบัติความลื่น และป้องกันน้ำของเนื้อผ้าสำหรับใช้ทำใบร่มแล้ว อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ตกหล่นไปไม่ได้เช่นกันก็คือ คุณสมบัติในการป้องกันยูวี หรืออันตรายจากแสงแดดนั่นเอง ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้วหลายคนมักเข้าใจว่าผ้าชนิดที่สามารถป้องกันยูวีจากแสงแดดได้ต้องเป็นผ้าที่ผ่านการเคลือบสารป้องกันยูเวี ซึ่งมีวิธีสังเกตง่าย ๆ ก็คือ อีกด้านของผ้าจะเป็นพื้นผิวสีเงิน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องส่วนหนึ่ง เพราะเมื่อน้ำผ้าโพลีเอสเตอร์ไปผ่านกระบวนการเคลือบแบบ Silver UV Coating แล้วก็จะทำให้ได้พื้นผิวของเนื้อผ้าอีกด้านเป็นสีเงิน ซึ่งการเคลือบสารรูปแบบนี้จะให้ระดับการป้องกันรังสียูวี หรือ Ultraviolet Protection Factor ในระดับ 25 (ตัวเลขยิ่งมากก็ยิ่งหมายถึงระดับการป้องกันที่มากตามไปด้วย) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความผ้าโพลีเอสตอร์ที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบสารดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติในการป้องกันยูวี โดยผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ยังไม่ผ่านการเคลือบสารก็มีความสามารถในการป้องกันรังสียูวีตั้งแต่ระดับ 15 ขึ้นไป และหากเป็นผ้าที่ยังไม่มีการเคลือบสาร แต่มีระดับความหนามากหน่อย เมื่อนำไปเทียบกับผ้าที่ระดับความหนาน้อยและผ่านการเคลือบสารฯแล้ว ก็อาจมีระดับความสามารถในการป้องกันรังสียูวีได้ใกล้เคียงกันด้วยซ้ำ นอกจากนี้การเคลือบสารป้องกันรังสียูวีบนผ้าร่มก็ยังมีการเคลือบในรูปแบบอื่น ๆ ที่ให้ระดับความสามารถในการป้องกันรังสียูวีที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การเคลือบแบบ Black UV Coating ที่จะทำให้ได้พื้นผิวผ้าอีกด้านเป็นสีดำ ซึ่งให้ระดับการป้องกันรังสียูวีมากกว่า 30 UPF ขึ้นไป