เทคนิคเลือกออกแบบ สั่งผลิตร่มสนาม และร่มขนาดใหญ่สำหรับใช้งานกลางแจ้ง
เมื่อพูดถึงการออกแบบ และสั่งผลิตร่มพรีเมี่ยมสักอัน ไม่ว่าจะเป็น ร่มพับ หรือ ร่มตอนเดียว แน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงร่มลักษณะใช้งานเดี่ยว ซึ่งก็คือแบบที่ใช้กางกันแดด กันฝนทั่วไปที่สามารถพับเก็บพกพาไปไหนมาไหนได้ ทว่าในบริบทการใช้งานจริงยังมีร่มอีกประเภทที่มีประโยชน์การใช้งานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ซึ่งก็คือร่มสนาม และร่มขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อต่อการพกพา โดยจะเน้นการใช้งานเฉพาะจุด และรองรับจำนวนคนใช้งานพื้นที่ได้มากกว่า และจะว่าไปแล้วหากมองในแง่ของประโยชน์ทางการตลาด ประเภทหลังนี้ดูจะเหมาะสำหรับทำเป็นของพรีเมี่ยมมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะด้วยขนาดของตัวสินค้าที่ใหญ่ และลักษณะการใช้งานที่มีความเป็นสาธารณะกว่า จึงกระตุ้นให้แบรนด์ หรือข้อความใดๆที่ถูกพิมพ์ไว้บนตัวสินค้าได้รับการจดจำจากผู้คนได้ดีกว่า ในบทความนี้จึงได้เลือกนำเอาเทคนิคการออกแบบ สั่งผลิตร่มสนาม และประเภทใช้งานกลางแจ้งต่างๆที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการแบบพกพามาบอกกล่าวให้หลายคนได้ใช้เป็นแนวทางในการทำสินค้าชิ้นนี้เป็นของพรีเมี่ยมให้บริษัท หรือองค์กรตัวเองกัน
ออกแบบโดยคำนึงถึงสัดส่วนพื้นที่ตัวสินค้า ความแตกต่างที่ชัดเจนอย่างนึงของร่มสนาม กับแบบพกพาก็คือขนาดนั่นเอง ดังนั้นในการออกแบบสิ่งสำคัญก็คือการคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ของตัวสินค้า เพื่อให้หน้าตาโดยรวมของสินค้าออกมามีความสมดุล ว่ากันง่ายๆ ก็คือไม่ควรก๊อปปี้ดีไซน์ของร่มพกพาขนาดเล็กมาใช้นั่นเอง แม้ว่าที่ผ่านมาเราอาจจะเคยดีไซน์ร่มพกพาพรีเมี่ยมที่ออกมาสวยงามถูกใจก็ตาม ทั้งนี้หากต้องการใช้ดีไซน์เดิมเป็นต้นแบบเพื่อให้สินค้าพรีเมี่ยมแต่ละชิ้นของบริษัทเราออกมามีหน้าตาแมตช์กันก็ควรคำนวณสัดส่วนพื้นที่ใหม่ เพื่อที่จะสามารถใส่องค์ประกอบต่างๆ ลงไปได้อย่างลงตัว ไม่ดูขาด หรือล้นจากพื้นที่สินค้าจริง
เลือกใช้ผ้าให้เหมาะสม หากเป็นร่มขนาดเล็ก นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานอย่างการใช้ผ้าที่กันน้ำได้แล้ว เราอาจจะเลือกผ้าประเภทที่มีน้ำหนักเบา และคืนตัวได้ดี เนื่องจากต้องคำนึงถึงความสะดวกในการพกพา และพับเก็บเมื่อไม่ใช้งาน แต่สำหรับร่มขนาดใหญ่ ร่มสนามนั้นไม่มีความจำเป็นต้องพกพา เนื่องจากโดยลักษณะการใช้งานจะเป็นการเคลื่อนย้ายเป็นครั้งคราว ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกผ้าที่ใช้ผลิตจึงแตกต่างออกไป โดยควรคำนึงถึงความทนทาน และประสิทธิภาพในการกันแดด กันฝน และรังสียูวีต่างๆ เป็นหลัก ตัวอย่างผ้าแนะนำที่เหมาะจะนำมาใช้ก็คือ ผ้า Texsilk, ผ้า Kunilon เป็นต้น ผ้าทั้งสองชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความทนทาน และประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวี ส่วนผ้าที่ไม่แนะนำ เรียกได้ว่าควรหลีกเลี่ยงนำมาใช้ก็คือ ผ้าไนล่อน ซึ่งถือเป็นผ้าที่มีจุดเด่นเรื่องความสวยงามของเนื้อผ้า แต่มีข้อเสียเรื่องความทนทาน ฉีกขาดง่าย และประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับผ้าสองแบบที่แนะนำ
ความสะดวก มั่นคงแข็งแรงในการตั้งวาง อย่างทราบกันดีว่าลักษณะการใช้งานร่มสนามจะเป็นการตั้งวางอยู่กับที่ ดังนั้นจุดนึงที่ต้องให้ความสำคัญในการเลือกออกแบบ และผลิตร่มประเภทนี้ก็คือ ความสะดวกในการตั้งวาง และความมั่นคงแข็งแรงของตัวฐาน โดยวัสดุที่ใช้ทำฐานควรมีน้ำหนักประมาณนึงเพื่อให้สามารถทานต่อแรงลม หรือแรงกระทบต่างๆ ที่อาจทำให้ร่มโอนเอนได้เพื่อไม่ให้ร่มล้มลงขณะตั้งวางใช้งาน นอกจากนี้ก็อาจใช้เทคนิคออกแบบอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงมั่นคงให้กับตัวฐานเพิ่มได้ เช่น ออกแบบให้ฐานมีความกว้างมากกว่าขนาดมาตรฐานทั่วไปสักเล็กน้อย เป็นต้น เพราะโดยทั่วไปมักจะออกแบบส่วนฐานให้มีขนาดที่เล็ก เพื่อความสะดวกในการใช้สอยพื้นที่ใต้ร่มเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ความมั่นคงแข็งแรงของตัวฐานมีไม่มากและโอนเอนต่อแรงลม แรงกระทบต่างๆได้ง่าย